วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

ฤกษ์งามยามดี


พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอาชีวกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ เป็นอาทิ.
ได้ยินว่า กุลบุตรชาวบ้านนอกผู้หนึ่ง ไปขอกุลธิดานางหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ให้แก่ลูกชายของตน นัดหมายวันกันว่า ในวันโน้น จักมารับเอาตัวไป. ครั้นถึงวันนัด จึงถามอาชีวก ผู้เข้าไปสู่ตระกูลของตน ว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ พวกผมจักทำมงคลอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมครับ.
อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนผู้นี้ ครั้งแรกไม่ถามเราเลย บัดนี้ เลยวันไปแล้ว กลับมาถามเรา เอาเถิด จักต้องสั่งสอนเขาเสียบ้าง. จึงพูดว่า วันนี้ ฤกษ์ไม่ดี พวกท่านอย่ากระทำการมงคล ในวันนี้เลย ถ้าขืนทำจักพินาศใหญ่.
พวกมนุษย์ในตระกูลพากันเชื่ออาชีวกนั้น ไม่ไปรับตัวในวันนั้น. ฝ่ายพวกชาวเมืองจัดการมงคลไว้พร้อมแล้ว ไม่เห็นพวกนั้นมา ก็กล่าวว่า พวกนั้นกำหนดไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา แม้การงานของพวกเรา ก็ใกล้จะสำเร็จแล้ว เรื่องอะไรจักต้องไปคอยพวกนั้น จักยกธิดาของเราให้คนอื่นไป แล้วก็ยกธิดาให้แก่ตระกูลอื่นไป ด้วยการมงคลที่เตรียมไว้ นั้นแหละ.
ครั้นวันรุ่งขึ้น พวกที่ขอไว้ก็พากันมาถึง แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงส่งตัวเจ้าสาวให้พวกเราเถิด. ทันใดนั้น ชาวเมืองสาวัตถีก็พากันบริภาษพวกนั้นว่า พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่า เป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี เป็นคนลามก กำหนดวันไว้แล้ว ดูหมิ่นเสีย ไม่มาตามกำหนด เชิญกลับไปตามทางที่มากัน นั่นแหละ. พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นแล้ว.
พวกชาวบ้านนอกก็พากันทะเลาะกับชาวเมือง ครั้นไม่ได้เจ้าสาว ก็ต้องพากันไปตามทางที่มา นั่นเอง. เรื่องที่อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคลของมนุษย์เหล่านั้น ปรากฏว่ารู้กันทั่วไปในระหว่างภิกษุทั้งหลาย. และภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในธรรมสภา นั่งพูดกันว่า อาวุโสทั้งหลาย อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคลของตระกูลเสียแล้ว. พระศาสดาเสด็จมา แล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอกำลังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว. ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคลของตระกูลนั้นเสีย แม้ในกาลก่อน ก็โกรธคนเหล่านั้น กระทำอันตรายงานมงคลเสียแล้ว เหมือนกัน แล้วทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ชาวพระนครพากันไปสู่ขอธิดาของชาวชนบท กำหนดวันแล้ว ถามอาชีวกผู้คุ้นเคยกันว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ ผมจะกระทำงานมงคลสักอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมขอรับ. อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้ กลับถามเรา คิดต่อไปว่า ในวันนี้ เราจักทำการขัดขวางงานของคนเหล่านั้นเสีย แล้วกล่าวว่า วันนี้ ฤกษ์ไม่ดี ถ้ากระทำการมงคลจักพากันถึงความพินาศใหญ่. คนเหล่านั้นพากันเชื่ออาชีวก จึงไม่ไปรับเจ้าสาว. ชาวชนบททราบว่า พวกนั้นไม่มา ก็พูดกันว่า พวกนั้นกำหนดวันไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา ธุระอะไรจักต้องคอยคนเหล่านั้น แล้วก็ยกธิดาให้แก่คนอื่น.
รุ่งขึ้น ชาวเมืองพากันมาขอรับเจ้าสาว ชาวชนบทก็พากันกล่าวว่า พวกท่านขึ้นชื่อว่า เป็นชาวเมือง แต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวันไว้แล้ว แต่ไม่มารับเจ้าสาว เพราะพวกท่านไม่มา เราจึงยกให้คนอื่นไป.
ชาวเมืองกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกดู ได้ความว่า ฤกษ์ไม่ดีจึงไม่มา จงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด. ชาวชนบทแย้งว่า เพราะพวกท่านไม่มากัน พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว คราวนี้จักนำตัวเจ้าสาวที่ให้เขาไปแล้วมาอีกได้ อย่างไรเล่า?
เมื่อคนเหล่านั้นโต้เถียงกันไป โต้เถียงกันมา อยู่อย่างนี้ ก็พอดี มีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตชาวเมืองคนหนึ่ง ไปชนบทด้วยกิจการบางอย่าง ได้ยินชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกแล้ว จึงไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี ก็พูดว่า ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์อยู่แล้ว มิใช่หรือ? ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ ความว่า :-
“ ประโยชน์ผ่านพ้นคนโง่ ผู้มัวคอยฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลาย จักทำอะไรได้ ” ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิมาเนนฺตํ ความว่า ผู้คอยดูอยู่ อธิบายว่า มัวรอคอยอยู่ว่า ฤกษ์จะมีในบัดนี้ จักมีในบัดนี้.
บทว่า อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา ความว่า ประโยชน์ กล่าวคือการได้เจ้าสาว ผ่านพ้นคนโง่ผู้เป็นชาวเมืองนี้.
บทว่า อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ ความว่า บุคคลเที่ยวแสวงหาประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เขาได้แล้วนั่นแหละ ชื่อว่าเป็นฤกษ์ของประโยชน์.
บทว่า กึ กริสฺสนฺติ ตารกา ความว่า ก็ดวงดาวทั้งหลายในอากาศนอกจากนี้ จักยังประโยชน์เช่นไรให้สำเร็จได้.
พวกชาวเมืองทะเลาะกับพวกนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เจ้าสาวอยู่นั่นเอง เลยพากันไป.
แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาชีวกนั้นทำการขัดขวางงานมงคลของตระกูลนั้น ถึงในครั้งก่อน ก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน.
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสแล้ว ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า
อาชีวกในครั้งนั้น ได้มาเป็นอาชีวกในครั้งนี้
แม้ตระกูลทั้งนั้นในครั้งนั้น ก็ได้มาเป็นตระกูลในครั้งนี้
ส่วนบุรุษผู้เป็นบัณฑิต ผู้ยืนกล่าวคาถา ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=49

สหัสสสูตร องค์คุณของพระโสดาบัน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 306
[๑๔๘๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ ราชการาม กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุณีสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุณีเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุณีทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ...
ในพระธรรม...
ในพระสงฆ์...
ประกอบด้วยศีลที่พระ-อริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาเป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
จบสหัสสสูตรที่ ๑
http://www.tripitaka91.com/91book/book31/301_350.htm

พระราหุลกุมารเอตทัคคมหาสาวกผู้ใคร่ต่อการศึกษา
ทรงผนวชเป็นสามเณร
[๑๑๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์
แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครกบิลพัสดุ์ เสด็จเที่ยวจาริกโดยลำดับถึงพระนครกบิลพัสดุ์ แล้ว.
ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ สักกชนบทนั้น. ครั้น
เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่
พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนศากยะ ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาปูลาด
ถวาย. ครั้งนั้นพระเทวีราหุลมารดา ได้มีพระเสาวนีแก่ราหุลกุมารว่า ดูกรราหุล พระสมณะนั้น
เป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระองค์ จึงราหุลกุมารเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ครั้นถึงแล้วได้ประทับยืนเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ
พระฉายาของพระองค์เป็นสุข. ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จอุฏฐาการจากพระพุทธอาสน์แล้ว
กลับไป จึงราหุลกุมารได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลังๆ พลางทูลขอว่า ข้าแต่พระสมณะ
ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดก
แก่หม่อมฉัน.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมารับสั่งว่า ดูกรสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น
เธอจงให้ราหุลกุมารบวช.
ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะให้ราหุลกุมารทรงผนวชอย่างไร พระพุทธ-
*เจ้าข้า?
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตร
เป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์.
วิธีให้บรรพชา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงให้กุลบุตรบวชอย่างนี้:-
ชั้นต้น พึงให้โกนผมและหนวด แล้วให้ครองผ้าย้อมฝาด ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้
กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระหย่ง ให้ประคองอัญชลี แล้วสั่งว่า จงว่าอย่างนี้ แล้วสอนให้
ว่าสรณคมน์ดังนี้:-
ไตรสรณคมน์
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒
ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์นี้.
คราวนั้น ท่านพระสารีบุตร ให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว.
พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลขอพระพร
ต่อมา พระเจ้าสุทโธทนศากยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มี
พระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท้าวเธอประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กราบทูลขอพระพรต่อพระผู้มีพระภาคว่า หม่อมฉันขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคสักอย่าง
หนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคถวายพระพรว่า ดูกรพระองค์ผู้โคตมะ ตถาคตทั้งหลาย มีพรล่วงเลย
เสียแล้ว
สุท. หม่อมฉันทูลขอพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. พระองค์โปรดตรัสบอกพรนั้นเถิด โคตมะ.
สุท. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว ความทุกข์ล้นพ้นได้บังเกิดแก่หม่อมฉัน เมื่อ
พ่อนันทะบวชก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อราหุลบรรพชา ทุกข์ยิ่งมากล้น พระพุทธเจ้าข้า ความรัก
บุตรย่อมตัดผิว ครั้นแล้ว ตัดหนัง ตัดเนื้อ ตัดเอ็น ตัดกระดูก แล้วตั้งอยู่จรดเยื่อในกระดูก
หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส พระคุณเจ้าทั้งหลาย ไม่พึงบวชบุตรที่บิดามารดายังมิได้อนุญาต
พระพุทธเจ้าข้า.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าสุทโธทนศากยะทรงเห็นแจ้ง ทรงสมาทาน
ทรงอาจหาญ ทรงร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. เมื่อพระเจ้าสุทโธทนศากยะ อันพระผู้มีพระภาคทรง
ชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากพระที่ ถวายบังคม
พระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ.
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก
เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่
พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จ
จาริกไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จเที่ยวจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว. ทราบว่า
พระองค์ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น
เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรมากรูปได้
[๑๑๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ตระกูลอุปฐากของท่านพระสารีบุตร ส่งเด็กชายไปในสำนัก
ท่านพระสารีบุตร ด้วยมอบหมายว่า ขอพระเถระโปรดบรรพชาเด็กคนนี้. ทีนั้น ท่านพระสารีบุตร
ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไม่ให้ภิกษุรูปเดียวรับสามเณร ๒ รูปไว้อุปัฏฐาก ก็
เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว ทีนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร ดังนี้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด
ผู้สามารถรูปเดียว รับสามเณรสองรูปไว้อุปัฏฐากได้ ก็หรือเธออาจจะโอวาท อนุศาสน์สามเณร
มีจำนวนเท่าใดก็ให้รับไว้อุปัฏฐาก มีจำนวนเท่านั้น.
สิกขาบทของสามเณร
[๑๒๐] ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลาย ได้มีความดำริว่า สิกขาบทของพวกเรามีเท่าไร
หนอแล และพวกเราจะต้องศึกษาในอะไร. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐
แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ
๑. เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป
๒. เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้
๓. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์
๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ
๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก
๘. เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่ง
การแต่งตัว
๙. เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงและใหญ่
๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ นี้ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณร
ทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นี้.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A=3321&Z=3417

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558


1 เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นไปเพื่อมีอายุสั้น
2 เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เป็นไปเพื่อมีอายุยืน
3 เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ เป็นไปเพื่อมีโรคมาก
4 เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นไปเพื่อมีโรคน้อย
5 เป็นคนมักโกรธ เป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทราม
6 เป็นคนไม่มักโกรธ เป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณงาม
7 เป็นผู้มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉา เป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย
8 เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉา เป็นไปเพื่อมีศักดามาก
9 ไม่เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัยเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เป็นไปเพื่อมีโภคะน้อย
10 เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัยเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เป็นไปเพื่อมีโภคะมาก
11 เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง เป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำ
12 เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูง
13 ไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ เป็นไปเพื่อมีปัญญาทราม
14 เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ เป็นไปเพื่อมีปัญญามาก
ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=7623&Z=7798%EF%BB%BF

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557



ควารัก ความร้าย ธรรมะเบาๆสำหรับวัน มาฆบูชา + วาเลนไทน์
https://www.youtube.com/watch?v=98RL2wwZb54&feature=youtu.be
ธัมมัสสวนสูตร
ว่าด้วยการฟังธรรม
ภิกษุทั้งหลาย การฟังธรรมมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้
อานิสงส์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. เข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นได้ตรง
๕. จิตของผู้ฟังธรรมย่อมเลื่อมใส
ภิกษุทั้งหลาย การฟังธรรมมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล

http://www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd22-3.htm